การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของส่วนงานในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ระดับส่วนงาน

ความเป็นมาของโครงการ

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตและเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรมโดยใช้ชื่อว่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)” โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบันและมีการขยายขอบเขตพร้อมทั้งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 โดยใช้แนวทางและเครื่องมือการประเมินตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด ทั้งนี้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้นำผลการประเมิน ITA ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนแม่บทฯโดยในระยะแรก (พ.ศ. 2561 – 2565) กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มเติมเป้าหมายระดับประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดให้ในปี 2566 – 2570 คะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสทุกหน่วยงานในประเทศไทยจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 89คะแนน และกำหนดให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 จะต้องมีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสต่อหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 100

การประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้นยังคงใช้กรอบแนวทางหลักในการประเมินเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา แต่ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดการประเมินที่สำคัญ คือ การลดจำนวนข้อคำถามของแบบวัด IIT, แบบวัด EIT และแบบวัด OIT ให้มีความกระชับ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าคะแนนของข้อคำถามสามารถสะท้อนประเด็นด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของหน่วยงานที่จะต้องมีการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของหน่วยงาน เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ที่หน่วยงานจะต้องเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ excel ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ต่อไปได้

ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล โปร่งใส และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยวางแนวทางการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลไว้ในแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) จึงนำเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) มาเป็นเครื่องมือในการวางระบบธรรมาภิบาล ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้คือ “โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567”

คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ประกาศ/หนังสือเวียน